ฟ้องลูกหนี้

การฟ้องลูกหนี้ คืออะไร

 

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ถือเป็นคำพูดที่ไม่ว่ากาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปนานขนาดไหนก็ยังเป็นจริงอยู่เสมอ การใช้ชีวิตให้เรียบง่ายที่สุดหรือใช้จ่ายอย่างพอประมาณกับรายได้นั้นจะไม่ก่อให้เกิดหนี้สิน ย่อมดีกว่าการใช้ชีวิตติดหรูดูแพง มีหน้ามีตาในสังคมแต่กลับต้องมาจมกับหนี้ที่ยาวเป็นหางว่าว แต่เมื่อเป็นหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็มีภาระต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้

แต่ใช่ว่าลูกหนี้ทุกคนจะเป็นคนดีเสมอไป บางคนยืมแล้วไม่ยอมคืน จนมีวลีอมตะที่ทำให้เจ้าหนี้ปวดหัว “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อยากได้ไปฟ้องเอา” โดยการติดตามทวงถามหนี้ เจ้าหนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบ มิฉะนั้น เจ้าหนี้อย่างเราอาจกลายเป็นผู้ทำละเมิดเสียเอง กลายเป็นเงินที่ให้กู้ยืมก็ไม่ได้แล้วยังต้องมีคดีเพิ่ม สร้างความปวดหัวเข้าไปอีก เรื่องนี้เจ้าหนี้ต้องรอบครอบและเพิ่มความระมัดระวัง การมีทนายความช่วยจัดการเรื่องฟ้องลูกหนี้ให้ ถือว่าเป็นทางออกอีกทางที่ดี เพราะทนายความมีประสบการณ์ในการฟ้องและบังคับคดีลูกหนี้ให้ชำระหนี้คืนมาหลายคดีแล้ว 

 

การฟ้องลูกหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้แต่งทนายให้ทำการยื่นฟ้องลูกหนี้ต่อศาล โดยทนายจะเขียนคำฟ้องและช่วยรวบรวมพยาน หลักฐานต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อศาล ให้ศาลพิจารณาพิพากษาลูกหนี้ หรือ จำเลย ให้ชำระเงินที่ยืมคืน รวมทั้งต้องดำเนินกระบวนการบังคับคดี ในการนำทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาดอีกด้วย เพื่อให้ได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืน ซึ่งกระบวนการฟ้องลูกหนี้และบังคับคดีอาจใช้ระยะเวลายาวนานประมาณ 1-2 ปี   

 

มาตรากฎหมายและฎีกา ที่เกี่ยวกับการฟ้องลูกหนี้

 

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วางหลักว่า การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ถ้าไม่ทำจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

  • โดยสาเหตุของการกู้ยืมส่วนใหญ่ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็มีสาเหตุหลักๆ คือ คนยืมเป็นเพื่อนสนิท เป็นญาติ จึงเกิดความเชื่อใจและไว้ใจกัน ถ้าคิดแบบนี้ทนายความแนะนำไม่ให้ยืมไปเลยดีกว่า ฉะนั้นความเชื่อใจและความจริงใจต้องมีกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นถ้าคิดจะให้ยืมเงิน ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

ฎีกาที่ 1883/2551 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งบังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อ ผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็หนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้ ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม

 ฎีกาที่ 14712/2551 แม้เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์ จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้ เอกสารที่โจทก์อ้างมีข้อความเพียงว่า “ได้รับเงินจำนวน 300,000 บาท(สามแสนบาทถ้วน)” ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้

 

  •  การสนทนาข้อความแชท ทาง LINE หรือ FACEBOOK จะถือเป็นเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือในการฟ้องร้องในทุกกรณี ได้หรือไม่  คำตอบคือ ไม่เสมอไป ทั้งนี้ ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป

คำพิพากษาฎีกาที่ 1112/2566 (หน้า 1531 เล่ม 7) แม้ข้อความสนทนาผ่านระบบแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ 2544 และเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อข้อความสนทนานั้นยังฟังไม่ได้ว่าเงินจำนวน 7,800,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงินกู้ยืม จึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้แล้วหรือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 ที่จะนำมาฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

สรุปจากฎีกา ในแชทข้อความจะต้องที่แสดงให้เห็นว่า มีการรับเงินไปและจะใช้เงินคืนและได้มีการระบุจำนวนเงินไว้ ซึ่งหากใช้คำว่า ขอกู้ยืมเงิน ระบุจำนวนเงิน และจะใช้เงินที่กู้ยืมเมื่อไร ก็ถือว่าเป็นหลักฐานในการที่จะใช้ฟ้องร้องได้

 

ถ้าจะฟ้องลูกหนี้ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

การฟ้องลูกหนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี ตามยอดเงินที่ยืม กล่าวคือ

1.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย

2.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้

  • สิ่งสำคัญ หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย

ดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน
  2. ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน
  3. จำนวนเงินที่กู้
  4. กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)
  5. ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 7 ได้ใช้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดสามารถคิดได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี
  6. ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)

กล่าวโดยสรุป ถ้าจะฟ้องลูกหนี้ เมื่อยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีสัญญากู้ยืมเงิน หากให้เงินลูกหนี้โดยการโอนเงินให้เก็บสลิปการโอนเงินไว้ด้วย 

 

วิธีการติดตามทวงถามลูกหนี้

 

เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม สิ่งแรกที่เจ้าหนี้ควรต้องทำคือ การทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ในเบื้องต้นอาจติดต่อทวงถามด้วยวาจาเสียก่อน หากไม่ได้ผลก็ต้อง เป็นทำหนังสือทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทวงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ นอกจากนี้ ควรทวงผู้ค้ำประกันไปในคราวเดียวกันด้วยเพราะผู้ค้ำประกันจะเป็นตัวช่วยใน การทวงหนี้จากลูกหนี้เร็วขึ้น ลูกหนี้บางคนเมื่อได้รับแล้วอาจจะรีบนำเงินมาชำระหนี้ แต่ลูกหนี้บาง คนอาจนิ่งเฉยแม้จะได้รับหนังสือทวงหนี้มาหลายครั้งแล้ว จึงต้องนำคดีมาฟ้องลูกหนี้ต่อศาล

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ ทวงหนี้ยังไงไม่ให้ผิดกฎหมาย

  • การโทรทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ กฎหมายให้ทวงหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น และเวลาที่ติดต่อได้เป็นช่วงเวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและถ้าเป็นวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา
  • การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ  หรือการใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น  อ่านเพิ่มที่ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

 

ให้ทนายออกโนติส หรือ หนังสือทวงถามให้ดีไหม

เมื่อมองถึงในการเพิ่มเติมข้อกฎหมายและแก้ไขข้อกฎหมาย ทำให้ปัจจุบัน การที่เจ้าหนี้จะทวงถามหนี้ต้องใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเจ้าหนี้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยวิธีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะทำให้เงินที่ให้กู้ยืมก็ไม่ได้คืน อีกทั้งยังมีคดีติดตัวอีกด้วย

ดังนั้น การเลือกให้ผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย เช่น ทนายความ เป็นผู้ทวงถามแทนเจ้าหนี้ก็ถือเป็นการป้องกันตัวเจ้าหนี้เองไปในตัวและเป็นการทวงถามหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย


ก่อนให้ลูกหนี้ยืมเงิน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง 


1.ความสามารถในการชำระของลูกหนี้ 

เจ้าหนี้จะต้องพิจารณาดูว่า ลูกหนี้ทำงานอะไร มีรายได้เท่าไหร่ มีรายจ่ายแต่ละเดือนอะไรบ้าง และที่สำคัญให้ดูว่าลูกหนี้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละเดือนเพียงพอหรือไม่

 

2.มีอสังหาริมทรัพย์ไหม
ในมุมมองที่เลวร้ายที่สุด หากลูกหนี้ไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ขั้นตอนต่อไปคือ เจ้าหนี้จะต้องฟ้องลูกหนี้ เมื่อศาลตัดสินให้ลูกหนี้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนแล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังไม่ชำระ เจ้าหนี้ต้องดำเนินการบังคับคดีต่อไป ถ้าลูกหนี้มีอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่ามูลหนี้ เมื่อทรัพย์ถูกบังคับขายทอดตลาด เจ้าหนี้ก็จะได้ยอดเงินที่ฟ้องคืน


3.ผู้คำประกัน  

ควรจัดให้มีผู้ค้ำประกันหนี้ โดยคุณสมบัติของผู้ค้ำจะต้องมีรายได้มากพอที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้ และควรมีอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถบังคับคดีขายทอดตลาดได้

 

ค่าจ้างทนาย ในการฟ้องลูกหนี้ราคาเท่าไหร่

เนื่องจากทนายความไม่สามารถประกาศหรือโฆษณาค่าจ้างทนายในเว็บไซต์ได้ เนื่องด้วยข้อบังคับของสภาทนายความ ห้ามมิให้ทนายความโฆษณา หรือประกาศอัตราค่าจ้างว่าความ หรือโฆษณาว่าจะไม่เรียกร้องค่าทนาย ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วย มารยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 17

สอบถามค่าจ้างทนายความ ในการฟ้องลูกหนี้ ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

ทางโทรศัพท์ 02-125-2511

ทางไลน์ @tiwanonlaw

Facebook : สำนักงานทนายความติวานนท์

E-mail : info@tiwanonlaw.com

ขอแนะนำให้ท่าน มาพบทนายด้วยตนเองดีที่สุด เพราะการสอบข้อเท็จจริงที่ดีที่สุดระหว่างทนายความกับลูกความ คือการมานั่งคุยกันต่อหน้า

การคุยกันทางโทรศัพท์ ทางไลน์ ทางอีเมล์ อย่างไรเสียก็สู้มานั่งคุยกันต่อหน้าไม่ได้ เพราะทำให้เข้าใจข้อเท็จจริงต่างๆได้ละเอียดกว่า และสามารถซักถาม ทำความเข้าใจและจับกิริยาอาการต่างๆได้ดีที่สุด

Scroll to Top